วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559

การเขียนสารคดี

  การเขียนสารคดี


ความหมายและจุดมุ่งหมายของการเขียนสารคดี
สารคดี” หมายถึง งานเขียนที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อเท็จจริง  เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลที่มีตัวตนจริง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง มีเจตนาเบื้องต้นในการให้สาระ ความรู้ ความคิด ทั้งนี้ ต้องมีกลวิธีการเขียนให้เกิดความเพลิดเพลินด้วย สารคดีโดยทั่วไปมีจุดมุ่งหมายดังนี้
1.  เพื่อให้ความรู้  อาจจะเป็นความรู้เฉพาะสาขาวิชา เช่น  วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือภาษาศาสตร์ ตัวอย่างเช่น ความรู้เกี่ยวกับการเจียระไนพลอย ความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ เป็นต้น
2.  เพื่อให้ข้อเท็จจริง  ซึ่งอาจได้มาจากประสบการณ์ที่ผู้เขียนค้นคว้า รวบรวมมา ประสบด้วยตนเอง หรือได้รับการบอกเล่าโดยมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือ ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเรียบเรียง หรือเล่าในรูปสารคดี เช่น สารคดีท่องเที่ยว สารคดีเกี่ยวกับสัตว์ป่า สารคดีเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นต้น
3.  เพื่อแสดงความเห็น หรือแนวคิด เป็นการให้แนวคิดที่เป็นประโยชน์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้อ่านมีความคิดที่กว้างขวางยิ่งขึ้น เช่น  สารคดีเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน สารคดีเกี่ยวกับการแก้ปัญหาของสังคม สารคดีเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของชาติ เป็นต้น
4.  เพื่อให้ความเพลิดเพลิน  เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด สารคดีบางเรื่องจึงเขียนให้เป็นสารคดีที่ไม่มีสาระวิชาการมากเกินไป ทั้งนี้เพื่อมุ่งสนองความต้องการของผู้อ่าน ให้ผู้อ่านเกิดความเพลิดเพลิน สนุกสนานไปกับเรื่อง ขณะเดียวกันก็ได้สาระความรู้ ข้อเท็จจริง และความคิดเห็นด้วย เช่น สารคดีเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ผู้เขียนจะนำชมสถานที่แปลกๆ ใหม่ๆ สวยๆ งามๆ โดยมีการพรรณนาความงามของธรรมชาติ ด้วยถ้อยคำที่สละสลวย

ลักษณะของสารคดี
                1.  เนื้อเรื่องมีสาระประโยชน์ เป็นงานเขียนที่มุ่งให้ผู้อ่านเกิดความรู้ ความคิด
                2.  เนื้อเรื่องไม่จำกัดว่าจะเป็นเรื่องใด ถ้าเห็นว่าเนื้อหานั้นมีสาระบันเทิงก็สามารถนำมาเขียนได้
                3.  การใช้สำนวนภาษาสร้างความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่าน และผ่อนคลายความตึงเครียดในชีวิตประจำวัน
                4.  สารคดีเป็นเรื่องราวที่ไม่ค่อยล้าสมัย ไม่มีการจำกัดกาลเวลาเหมือนข่าว



ประเภทของสารคดี
                สารคดีแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
                1.  สารคดีวิชาการ  เป็นเรื่องที่ให้ความรู้วิชาการแขนงต่างๆ เช่น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภาษาศาสตร์ สังคมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ ศาสนศาสตร์ เป็นต้น
                2.  สารคดีทั่วไป  เป็นเรื่องที่ให้ความรู้และความรอบรู้ทั่วๆ ไป เช่น การท่องเที่ยว การเล่นกีฬา งานอดิเรก สงคราม อุบัติเหตุ ประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ การทำขนม ตัดเย็บเสื้อผ้า การออกกำลังกาย เป็นต้น
                3.  สารคดีชีวประวัติ  เป็นการเขียนเกี่ยวกับบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือบุคคลที่มีความสามารถเป็นพิเศษ ผู้เขียนจะต้องมีข้อมูลอย่างถูกต้อง ให้ความเป็นธรรม ปราศจากอคติลำเอียง เขียนโดยการไปสัมภาษณ์เจ้าของประวัติหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้นั้น แล้วนำเอาสิ่งที่เป็นสาระมาเขียนไว้ เพื่อให้เกิดความรู้ ความบันเทิงแก่ผู้อ่าน

องค์ประกอบของสารคดี
                1.  คำนำ  คือ การเริ่มต้นเรื่องโดยการเกริ่นให้ผู้อ่านทราบว่าเรื่องที่จะเขียนนั้นเกี่ยวกับเรื่องอะไร เป็นการเสนอทรรศนะอย่างกว้างๆ ไว้ก่อน ไม่ต้องอธิบายอย่างละเอียด และไม่ต้องเขียนยาวมากนัก มีเพียงย่อหน้าเดียว ควรมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความสนใจแก่ผู้อ่านให้ได้ทราบข้อมูล เรื่องที่น่ารู้และน่าสนใจ
                2.  เนื้อเรื่อง  คือ การขยายเนื้อความให้ผู้อ่านได้ทราบข้อมูล รายละเอียด โดยอาจแทรกสถิติ ตัวอย่างประกอบ เพื่อความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น การเขียนเนื้อเรื่องอาจมีหลายย่อหน้า
                3.  สรุป  คือ การเขียนข้อความในตอนท้ายของเรื่อง ผู้เขียนต้องใช้ศิลปะในการสร้างความประทับใจแก่ผู้อ่าน อาจใช้กลวิธีอย่างเช่น สรุปโดยการใช้สำนวน คำพังเพย หรือ คำคม หรือ ทิ้งท้ายด้วยคำถามที่น่าสนใจ การเขียนสรุปควรมีเพียงย่อหน้าเดียว
               
ขั้นตอนการเขียนสารคดี
                1.  การเตรียมตัว  ผู้เขียนจะต้องศึกษาเหตุการณ์ ติดตามเรื่องราว ศึกษาจากเอกสาร หนังสือ หรือการทดลอง เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง และเตรียมข้อมูล โดยต้องเลือกเรื่อง กำหนดจุดมุ่งหมาย ศึกษาแหล่งข้อมูล และเก็บรวบรวมข้อมูล
                2.  การลงมือเขียนเรื่อง  เมื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆ ได้พร้อมแล้ว ก็ลงมือเขียนโดยตั้งชื่อเรื่อง เขียนโครงเรื่อง และลงมือเขียนรายละเอียดของเรื่องด้วยความตั้งใจ ใช้ภาษาที่ชัดเจน ไม่คลุมเครือ เร้าใจให้ผู้อ่านเกิดความประทับใจ และจูงใจให้ผู้อ่านสนใจติดตามต่อไป
                3.  การทบทวนเรื่องที่เขียน  ควรทบทวนสาระของเรื่องว่า ตรงกับชื่อเรื่องและจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ ตลอดจนควรพิจารณาความถูกต้อง สมบูรณ์ ความเหมาะสมของเนื้อหา รวมทั้งการใช้ภาษาและสัมพันธภาพของเรื่องด้วย
                4.  การตรวจทาน  หลังจากที่ได้ทบทวนและแก้ไขแล้ว ควรอ่านตรวจทานอย่างพินิจพิจารณาตั้งแต่ต้นจนจบอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะนำไปเผยแพร่
                5.  การตั้งชื่อเรื่อง ควรตั้งให้มีลักษณะคือ เหมาะแก่กาลเทศะ แปลกใหม่และคมขำ จำง่าย และคลุมถึงเนื้อเรื่องได้ดีที่สุด ชื่อเรื่องเป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องพิถีพิถัน เพราะหากเนื้อเรื่องดีแต่ชื่อเรื่องไม่ดี ก็จะไม่สามารถดึงดูดความสนใจผู้อ่านได้

ตัวอย่างสารคดี
                                                                                  ( สุชัญญา  วงค์เวสช์  เรียบเรียง )

มวยไทย  มรดกชาติ

เมื่อถึงวันเสาร์ อาทิตย์ ฉันจะรู้สึกมีความสุขมากที่จะได้พักผ่อนในวันหยุดสุดสัปดาห์ได้นั่งดูรายการโทรทัศน์ที่โปรดปราน  แต่ความสุขมักจะย่อมมีอุปสรรคมาขัดขวาง  นั่นคือ  พ่อชอบแย่งดูรายการ “มวยไทย”  ตอนนั้นฉันคิดว่ามันเป็นอะไรที่น่าเบื่อที่สุด  และเป็นกีฬาที่รุนแรง แต่พอฝืนใจลองทนนั่งดูสักพัก  กับเห็นชาวต่างชาติให้ความสนใจในกีฬามวยไทยมาก  มันทำให้ฉันคิดได้ว่าเราเองเป็นคนไทย ควรที่จะอนุรักษ์ส่งเสริมกีฬาไทยซึ่งเป็นมรดกของชาติ ฉันเลยไปค้นคว้าหาความรู้เรื่องมวยไทย  ไว้เผยแพร่ต่อไป
มวยไทยเป็นวิชาการต่อสู้และป้องกันตัว ที่ยืนหยัดสืบต่อกันมาไม่น้อยกว่า 2,000  ปี  มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากมวยต่างประเทศ คือมวยไทยต้องใช้อาวุธทุกส่วน  และต้องอาศัยกำลังกาย  กำลังใจ  สติปัญญาในการต่อสู้  ซึ่งเป็นการต่อสู้โดยใช้อวัยวะเป็นอาวุธธรรมชาติที่มีมาแต่กำเนิด
มวยไทยได้ขึ้นชื่อว่ากำเนิดขึ้นมาพร้อมกับการก่อร่างสร้างตัวของชาติ  ในสมัยนั้นได้มีการรบราฆ่าฟันระหว่างชนชาติใกล้เคียงตลอดเวลา เพื่อแย่งชิง และครอบครองดินแดนต่างๆ  ชาติไทยจึงต้องมีการเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับข้าศึกเพื่อป้องกันชาติ   ในสมัยนั้นอาวุธต่างๆยังไม่เจริญมากนัก  คนโบราณจำเป็นต้องสู้รบโดยใช้อาวุธธรรมชาติ  คือ หมัด  ศอก  เข่า  เตะ  เข้าต่อสู้กับเหล่า ศัตรูทั้งหลาย  เพราะเหตุนี้มวยไทยจึงได้รับความนิยมฝึกหัดในหมู่นักรบสมัยโบราณเรื่อยมา
มวยไทยนอกจากจะเป็นการต่อสู้ที่ได้มีส่วนกอบกู้อิสรภาพ  ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแล้ว  ยังเป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นมรดก  และสร้างชื่อเสียงให้กับชาติไทย  นั่นคือ “การไหว้ครูมวย” เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์แห่งความอ่อนน้อม ความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณที่เคยมีต่อตน ก่อให้เกิดการหวนรำลึกถึงพระคุณครูบาอาจารย์ที่ประสิทธิประสาทวิทยาการมวยไทยให้  การไหว้ครูจึงส่งผลให้มวยไทยต้องประกอบไปด้วยลักษณะของการว่าง่าย  ความรู้จริง  กล้าหาญ  อดทน  มีน้ำใจและกตัญญูซื่อสัตย์  หากขาดข้อใดข้อหนึ่งไปแล้วก็จะไม่เรียกว่ามวยไทยที่สมบูรณ์
เมื่อพลิกประวัติศาสตร์ชาติไทย  เราจะได้เห็นความสำคัญของมวยไทย ที่ได้แสดงออกถึงฤทธิ์เดชและอานุภาพที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ามวยชาติใดๆ  นักมวยไทยที่สร้างความเลื่องลื่อของศิลปะมวยไทยในดินแดน  มอญ  พม่า  นั่นคือนายขนมต้มที่สามารถปราบนักมวยเอกของพม่า 9 คนติดๆกัน ต่อหน้าพระที่นั่งของพระเจ้าอังวะ ในงานฉลองยกฉัตรพระมหาเจดีย์ธาตุ  ทำให้พระเจ้าอังวะถึงกับตบพระอุระตรัสสรรเสริญมวยไทยว่า “...ไทยมีพิษสงอยู่ที่ตัวแม้มือเปล่าๆไม่มีอาวุธเลย  คนเดียวแท้ๆก็ยังเอาชนะคนได้เป็นจำนวนมาก  มีฝีมือมวยแสนวิเศษ...” ต่อมาจึงมีคำกล่าวถึงมวยไทยและนายขนมต้มว่า
อันมวยใดไป่แม้น            มวยไทย
หมัดเข่าเท้าศอกไว                       ว่องแท้
แม้ร่างเล็กแต่ใจเด็ดเดี่ยว               จริงแฮ
มอญพม่าทั้งเก้าแพ้                      พ่ายสิ้นมวยไทย
ขนมต้มนามท่านนี้            โด่งดัง  จริงเฮย
ลับแต่ชีพนามยัง                          เด่นไซร้
เรานี้เกิดภายหลัง                          ยังทราบได้นา
นำเกียรติสู่ชาติได้                          พรรคพร้องสรรเสริญ

จะเห็นได้ว่าตำนานของมวยไทยมีความสำคัญ และมีคุณค่ามากต่อชาติไทย ที่มีส่วนในการป้องกันประเทศ  กอบกู้อิสรภาพให้ชาติ และยังสร้างชื่อเสียงอันเป็นเกียรติภูมิต่อประเทศ  ถือได้ว่ามวยไทยเป็นมรดกที่คนไทยควรอนุรักษ์  และสืบสานต่อไป

ศิลปะมวยไทยในปัจจุบันกำลังเสื่อมและสูญหายไป  เพราะคนไทยไม่สนับสนุนและส่งเสริม  แต่กลับไปให้ความนิยมกับศิลปะการต่อสู้ของชาวต่างชาติ  มรดกชิ้นสุดท้ายทางวัฒนธรรมของไทยเริ่มเสื่อมลงเมื่อถูกชาวต่างชาตินำไปลอกเลียนแบบ และตั้งเป็นศิลปะของเขา  ซ้ำยังย่ำยีนักมวยไทยจนสลบคาเวทีต่างชาติมานักต่อนัก
แล้วแบบนี้ลูกหลานคนไทยยังทนนิ่งดูดายต่อไปได้อีกหรือ



อ้างอิง // http://courseware.payap.ac.th/docu/th203/content/sara.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น