รายการสัมภาษณ์
สำหรับรายการสัมภาษณ์แล้ว
ผู้สัมภาษณ์จะเป็นทั้งผู้เขียนบทและผู้ผลิตรายการนั้นไปด้วย
ผู้สัมภาษณ์จะกำหนดว่ารายการสัมภาษณ์ของตนนั้นต้องการวัตถุประสงค์อะไรในการสัมภาษณ์
เช่น
เพื่อทราบเรื่องราวข้อเท็จจริงหรือเพื่อทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องสำคัญต่างๆ หรือเพื่อรวบรวมเสนอเกี่ยวกับตัวผู้ให้สัมภาษณ์เอง
เมื่อผู้สัมภาษณ์กำหนดได้แล้วก็จะจัดให้ผู้ชมได้พบกับบุคคลต่างๆ ที่น่าสนใจ
ผู้สัมภาษณ์จะไปพบแขกรับเชิญของตน สนทนา อธิบายเรื่องที่ต้องการสัมภาษณ์ คำถาม
การเตรียมตัว เพื่อปรากฏตัวทางวิทยุโทรทัศน์ สถานที่หรือฉากที่สัมภาษณ์ส่วนใหญ่จะเป็นฉากที่เรียบง่าย
ฉากในห้องส่งจัดเป็นห้องรับแขก บางทีใช้สถานที่จริงในที่ทำงาน ที่บ้าน ในสวน
แล้วแต่ผู้สัมภาษณ์จะเห็นว่าเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ และกลุ่มผู้ชมเป้าหมาย
รายการสัมภาษณ์ทางวิทยุโทรทัศน์มีภาพปรากฏด้วย
ดังนั้นการเตรียมตัวจึงสำคัญมาก ผู้สัมภาษณ์ที่ถือบทแล้วอ่านถามตอบตามบท
จะทำให้รายการน่าเบื่อ การเตรียมถามตอบให้เป็นธรรมชาติจึงมีความจำเป็น
ผู้สัมภาษณ์ควรศึกษาเรื่องที่จะไปสัมภาษณ์ให้มากที่สุดและศึกษาเรื่องของผู้ที่จะไปสัมภาษณ์ให้มากที่สุดเช่นกัน
ในบทสัมภาษณ์ควรประกอบด้วย
1.กล่าวนำรายการให้น่าสนใจ
สามารถดึงผู้ชมให้หันมาสนใจรายการทันที
2.แนะนำผู้ให้สัมภาษณ์ว่าเป็นใคร
และสำคัญอย่างไรจึงได้รับเชิญมาให้สัมภาษณ์
3.เริ่มด้วยคำถามที่น่าสนใจและไม่ยากเกินที่จะตอบ
4.ดำเนินรายการให้มีลักษณะเป็นการสนทนา
จำไว้เสมอว่าการสัมภาษณ์ก็คือการสนทนานั่นเอง
5.พัฒนาข้อสนทนาให้น่าสนใจเพิ่มมากขึ้นโดยระลึกอยู่เสมอว่า
คำถามนั้นอยู่ในขอบเขตความรู้ ความสามารถของผู้ให้สัมภาษณ์ ไม่ถามนอกเรื่อง
6.เน้นย้ำคำตอบที่ต้องการเน้น
7.ไม่ควรถามคำถามที่ตอบเพียงว่าใช่หรือไม่ใช่
ยกเว้นการตอบใช่หรือไม่ใช่เป็นจุดสำคัญที่สัมภาษณ์ต้องการเน้นย้ำ
รายการสารคดี
รายการสารคดีเป็นรายการที่มุ่งเน้นเสนอข้อเท็จจริง
ให้ความรู้ ข้อมูล และเหตุการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ชม
มุ่งให้ผู้ชมเมื่อชมแล้วมีแรงบันดาลใจให้กระทำ หรือไม่กระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง
เรื่องราวที่เสนอเป็นเรื่องจริง ผู้เขียนบทสารคดีจำต้องค้นคว้าหาข้อมูล
รายละเอียดมาประกอบการเขียนบทให้ถูกต้อง จากตำรา เอกสาร สอบถามจากบุคคล
หรือเกิดจากความคิดของผู้เขียนบทที่มีต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
ในกรณีที่ผู้เขียนสามารถค้นคว้าข้อมูลและเข้าใจเรื่องที่เขียนอย่างดีก็สามารถจะเขียนบทได้ก่อนการถ่ายทำ
ซึ่งอาจทำเป็นบทแบบสมบูรณ์เลยก็ได้
แต่บางครั้งผู้เขียนไม่สามารถหาข้อมูลได้เนื่องจากไม่มีในเอกสาร
ตำราที่จะใช้อ้างอิง นอกจากการสอบถามจากบุคคลเท่านั้น
ผู้เขียนบทก็จะเขียนบทอย่างคร่าวๆ ไว้ก่อน
พอถ่ายทำมาแล้วผู้เขียนบทรู้ว่ามีภาพอะไรบ้าง ผู้เขียนจึงสามารพัฒนาบทจากบทคร่าวๆ
เป็นแบบสมบูรณ์ได้
เนื้อหาบทสารคดีนั้นสามารถนำมาจากข่าวสารที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ ประวัติศาสตร์ ปัญหาสังคมเศรษฐกิจ การเมือง ชีวประวัติ สถานที่ท่องเที่ยว
วิทยาการแขนงต่างๆ วัฒนธรรม ประเพณี และอื่นๆ
ซึ่งวิธีการเขียนขึ้นอยู่กับแง่มุมที่ผู้เขียนบทต้องการเสนอข้อเท็จจริง ความคิด
ข้อเสนอแนะให้ผู้ชมได้ชมและบางครั้งช่วยตัดสินใจ
เทคนิคสำคัญในการเขียนบทสารคดีก็คือ
สารคดีเป็นการเสนอเรื่องราวข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียว
การเสนอความจริงเพียงอย่างเดียวอาจทำให้บทดูน่าเบื่อไม่น่าสนใจ ผู้เขียนบทจึงต้องนำรูปแบบของรายการประเภทต่างๆ
เข้ามาประกอบในการเขียนบทสารคดีด้วยเพื่อให้เกิดความหลากรสในรูปของความน่าสนใจ
อาจจะนำรูปแบบรายการพูดคุยการสัมภาษณ์
บางครั้งนำเสนอในลักษณะของละครเข้ามาร่วมด้วย ดังนั้นเทคนิคที่สำคัญของ
การเขียนบทสารคดีคือเขียนเรื่องให้น่าสนใจมีเอกภาพ
ทั้งในเรื่องของเนื้อหาและภาษาที่ใช้ต้องสละสลวยเข้าใจง่าย มีจุดเด่นจุดเดียว
แต่ต้องมีความหลากในเรื่องของกลวิธีการนำเสนอ
การอ่านบรรยายประกอบภาพเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ ต้องใช้ดนตรี เสียงประกอบ การสัมภาษณ์ การสนทนา การพูด อาจทำในรูปข่าวสารน่ารู้และแม้แต่ละคร
ทำให้เกิดความหลากในรูปแบบดูแล้วสนุกสนาน ได้ความรู้และไม่ น่าเบื่อ
แต่ทั้งนี้ผู้เขียนบทต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของเนื้อหาและความสนใจของผู้ชมกลุ่มเป้าหมายเป็นหลักด้วย
รายการเพื่อการศึกษา
รายการเพื่อการศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้
ให้การศึกษา ทักษะใหม่ๆ ความคิด หรือหลักให้ถือปฏิบัติ
เพื่อให้บุคคลดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขในสังคม เป็นพลเมืองดี รองศาสตราจารย์อรทัย
ศรีสันติสุข ได้จัดประเภทของรายการวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษาออกเป็น 2 กลุ่ม
คือ
1.รายการเพื่อการสอน (InstructionalProgram) หมายถึงรายการที่มีจุดมุ่งหมายในการสอนวิชาความรู้ในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการเรียนรู้โดยชัดแจ้ง มีนักวัดผล
วัดผลการเรียนของผู้ชมหรือผู้เรียนเพื่อผ่านมาตรฐานการเรียนในระดับหนึ่ง ระดับใด
รายการสอนประเภทนี้มักควบคู่ไปกับการศึกษาในระบบ (formal education)
2.รายการสอนเพื่อความรู้ (EducativeProgram) หมายถึงรายการที่มิได้มุ่งหมายเพื่อการสอนโดยตรง
แต่เป็นรายการที่มุ่งให้ความรู้ ความกระจ่างในบางเรื่อง หรือหลายๆ เรื่อง
เป็นรายการซึ่งผู้ชมจะได้รับความรู้ ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ จำเป็นแก่การดำเนินชีวิตในส่วนตัวและส่วนรวม
ความรู้ต่อวิทยาการก้าวหน้า ส่งเสริมให้รู้จักคิด
รู้จักการเตรียมรับการเปลี่ยนแปลง มองการณ์ไกล
นักเขียนบทสำหรับรายการเพื่อการศึกษา
ต้องดูว่าบทที่เขียนจะประกอบในรายการประเภทใด ถ้าเป็นรายการเพื่อการสอนโดยตรง
ข้อมูลต่างๆ ตรงกับบทเรียน หรือเนื้อหาที่จะสอน มีผู้บรรยาย จะมีการสาธิตประกอบ
มีภาพกราฟิกประกอบคำบรรยายเพื่อสะดวกแก่การเข้าใจ
พยายามใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายในการอธิบาย
อย่าลืมให้เห็นทั้งภาพและได้ยินเสียงด้วยเวลาเขียนบทพยายามแนะนำการสาธิตและการใช้ภาพประกอบเสมอ
ถ้าท่านได้รับมอบหมายให้เขียนรายการเพื่อความรู้
ดูกลุ่มเป้าหมายว่าผู้ชมของท่านเป็นใคร เด็ก เยาวชน หรือผู้ใหญ่
จะได้เขียนบทได้เหมาะสมกับความรู้และความสนใจของกลุ่ม
วัตถุประสงค์ของรายการเพื่อให้ความรู้ทั่วไป สร้างเสริมทักษะ ประสบการณ์เพิ่มเติม
เสริมคุณค่าชีวิต เพิ่มความรู้ในการดำเนินชีวิต
การปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่เปลี่ยนไป
รูปแบบรายการเพื่อการศึกษานี้ทำได้หลายอย่าง เช่น
การสาธิต การแสดง การสัมภาษณ์ พูดคุย ตอบปัญหา แข่งขัน สาระบันเทิง
รูปแบบรายการปกิณกะหรือนิตยสาร สารคดี อภิปราย ละคร ได้ทุกรูปแบบแล้ว
แต่จะจัดให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ กลุ่มเป้าหมาย ระยะเวลา รายการ หัวข้อเรื่อง
ข้อมูลที่ประกอบในการเขียนบท
ละครวิทยุโทรทัศน์
ประเด็นสำคัญของบทละครวิทยุโทรทัศน์คือ
ต้องนำเสนอทั้งภาพและเสียงให้ผู้ชมละครวิทยุโทรทัศน์ได้เห็นและได้ฟัง
ตลอดจนให้ผู้ชมเกิดจินตนาการ อารมณ์และความรู้สึกคล้อยตามเรื่องราวและเหตุการณ์ที่นำเสนอผ่านสื่อบุคคลและสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ผู้เขียนบทละครจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนวนิยาย
หรือต้นเรื่องที่จะนำเสนออย่างถ่องแท้ รวมถึงกลวิธีการนำเสนอและการบันทึกภาพบุคคล
ภาพเหตุการณ์ ภาพสถานที่อีกด้วย เพื่อเขียนบทละครวิทยุโทรทัศน์ให้กับผู้แสดง
และผู้บันทึกภาพให้เข้าใจได้อย่างชัดเจน
การเขียนบทละครวิทยุโทรทัศน์มีข้อแนะนำดังนี้
1. อ่านต้นเรื่องที่จะสร้างเป็นละครวิทยุโทรทัศน์ให้เข้าใจเรื่องราวทั้งหมด
แล้ววิเคราะห์ต้นเรื่องตามองค์ประกอบ เช่น วิเคราะห์ตัวละคร ว่ามีกี่ตัว มีบุคลิก
ลักษณะนิสัยอย่างไรบ้าง ปูมหลังของตัวละครแต่ละตัว
และความเชื่อมโยงของตัวละครแต่ละตัว วิเคราะห์ฉาก เหตุการณ์ในเรื่องเกิดขึ้น ณ
สถานที่ใด เวลาใด เป็นต้น
2. พิจารณาต้นเรื่องเพื่อตัดแบ่งตอนๆ
เพื่อให้สะดวกในการถ่ายทำ โดยมีข้อคำนึงถึงดังนี้
- ใน 1 ตอนควรมีความสนุกสนาน ตื่นเต้น ชวนติดตาม มีจุดเด่นของตอนนั้นๆ
เนื้อหาต้องมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน
และให้เห็นความคืบหน้าของเหตุการณ์เรื่องราว ให้ข้อมูลเพิ่ม
- ใน 1 ตอน ควรแสดงปมขัดแย้ง
ไม่ว่าจะเป็นปมใหญ่ หรือปมย่อยๆ
- ใน 1 ตอนควรลำดับเรื่องราวดังนี้
ช่วงต้นจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องราวตัวละคร ต่อมาเริ่มแสดงปมขัดแย้ง
ช่วงกลางจะแสดงความยุ่งยากจากปมขัดแย้ง และช่วงท้ายจะค่อยๆ
คลี่คลายความขัดแย้งในตอนนั้น
ซึ่งความขัดแย้งหรือความยุ่งยากที่สร้างขึ้นไว้อาจก่อให้เกิดปมอื่นๆ
ความยุ่งยากอื่นๆ ในตอนต่อๆ ไปก็ได้
3. ศึกษาเฉพาะตอนที่พิจารณาตัดแบ่งไว้
เพื่อแบ่งเป็นฉาก โดยพิจารณาว่าจะจัดแบ่งตอนนั้นๆ เป็นฉากได้กี่ฉาก
แล้วจัดลำดับฉากก่อน-หลัง แล้วบันทึกสรุปจำนวนฉากในแต่ละตอน
พร้อมทั้งสรุปเนื้อหาสาระสำคัญของตอน
4. ศึกษารายละเอียดของเรื่องราวในฉากแต่ละฉาก
ให้ทราบว่าฉากนั้นคือสถานที่ใด มีตัวละครในฉากนั้นๆ กี่ตัว ตัวละครใดสนทนากันบ้าง
เรื่องอะไร ด้วยถ้อยคำภาษาลักษณะใด อารมณ์ของตัวละครเป็นอย่างไร
เหล่านี้ต้องแสดงไว้ในบทอย่างชัดเจนประกอบกับอวจนภาษาที่ตัวละครแสดงออกด้วย
การเขียนบทสนทนาของตัวละครมีข้อคำนึงถึงดังนี้
- บทสนทนาต้องสอดคล้องกับลักษณะนิสัย
บุคลิกภาพ ตลอดจนอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร
แสดงเอกลักษณ์ของตัวละครแต่ละตัวได้ชัดเจน กล่าวคือ บทสนทนาต้องสมจริง
- บทสนทนาต้องไม่ยาวเกินไปและไม่สั้นเกินไป
อย่าให้ตัวละครตัวใดพูดยาวเกินไปจนน่าเบื่อ
หรือพูดน้อยเกินไปจนจับประเด็นเนื้อหาไม่ได้
- ในนวนิยายที่เป็นต้นเรื่อง
อาจมีจำนวนบทสนทนาของตัวละครไม่มาก เมื่อนำมาสร้างเป็นละครวิทยุโทรทัศน์
ผู้เขียนบทต้องสร้างบทสนทนาเพิ่มให้ตัวละครสนทนากันมากขึ้น
เพื่อให้เหมาะกับการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านสื่อบุคคล
5. เมื่อผู้เขียนบทจะเขียนบทละครแต่ละฉาก
ผู้เขียนต้องจินตนาการภาพเหตุการณ์ในฉากนั้นด้วยว่าจะเป็นไปในลักษณะใด
จะเริ่มจากจุดใดก่อนและหลังตามลำดับ จะกำหนดให้ผู้บันทึกภาพบันทึกภาพใคร อะไร
อย่างไร ผู้เขียนควรระบุไว้ในบทด้วย เพื่อให้ผู้บันทึกภาพดำเนินการได้อย่างเหมาะสม
เพื่อให้ผู้แสดงเห็นภาพรวมของเหตุการณ์ในฉากหนึ่งๆ
6. นำข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นมาประมวลและเขียนบทละครวิทยุโทรทัศน์
ซึ่งมีส่วนประกอบดังนี้
6.1 ส่วนนำเรื่อง ควรระบุข้อมูลเบื้องต้น เช่น
ละครเรื่องนี้เขียนขึ้นจากนวนิยายเรื่องใด ใครเป็นผู้แต่ง
เนื้อเรื่องย่อ จำนวนตอน ข้อมูลเกี่ยวกับตัวละคร โดยเฉพาะตัวละครหลัก
และตัวละครรอง ข้อมูลเกี่ยวกับฉากสำคัญๆ แนวคิดสำคัญหรือแก่นเรื่อง
6.2 ส่วนเนื้อหาของบทละคร ระบุชื่อละคร หมายเลขตอน ชื่อตอน
ในแต่ละตอนให้ระบุฉาก ลำดับฉาก ชื่อตัวละคร ลักษณะภาพ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละฉาก บทสนทนาของตัวละครในฉากหนึ่งๆ อวจนภาษาของตัวละคร เช่น อากัปกิริยา
น้ำเสียง ทั้งหมดนี้ให้เขียนไปตามลำดับที่ผู้เขียนบทประสงค์จะให้เป็นไป
เมื่อเขียนจบแต่ละฉากขึ้นฉากต่อไป
ผู้เขียนบทควรคำนึงถึงความต่อเนื่องของเรื่องราวที่นำเสนอ
ความสมจริงของเหตุการณ์และบทที่เขียนขึ้นสื่อความให้นักแสดง ผู้บันทึกภาพ
ผู้กำกับการแสดง และผู้เกี่ยวข้องเข้าใจ
เมื่อเขียนจบตอนหนึ่ง
ผู้เขียนบทควรอ่านทบทวนทุกฉาก เพื่อประมวลว่าตอนนั้นสามารถนำเสนอเนื้อเรื่อง
แนวคิดสำคัญ ปมขัดแย้ง ตัวละคร และข้อมูลอื่นๆ ได้ตรงตามเนื้อหาแต่ละตอนหรือไม่ ถ้าบทยังไม่สมบูรณ์ต้องปรับปรุง
เมื่อเขียนจบเรื่องแล้ว
ผู้เขียนบทควรอ่านทบทวนทุกตอน เพื่อพิจารณาความต่อเนื่อง ความสมจริง
ทุกเหตุการณ์ที่นำเสนอมีคุณค่าต่อเรื่อง มีความสนุกสนานกระทบอารมณ์
ความรู้สึกของผู้ชม ชวนให้ผู้ชมละครติดตามเรื่องจนจบ
อีกทั้งควรตรวจสอบการเขียนบทสนทนา
ลักษณะนิสัยและบุคลิกภาพของตัวละครให้มีความคงที่
หากจะเปลี่ยนแปลงต้องเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างสมเหตุสมผล
ตรวจสอบความต่อเนื่องของฉาก การจัดลำดับภาพ จัดลำดับเหตุการณ์
ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม สมจริง
7. จัดพิมพ์บทละครโทรทัศน์
ตามตัวอย่างต่อไปนี้
โดมทอง ตอน 5
ฉาก 1 ห้องแสง
ตัวละคร แสง กิ่ง
ขึ้นภาพที่มุมสวยๆ
แล้วแพนมาที่แสงยืนอยู่ที่หน้าต่าง มองออกไปข้างนอก มีเสียงเคาะประตูเบาๆ
แสง. (ไม่ได้หันมา) เข้ามา
กิ่ง. คุณแสงคะ
แสง. เขามากันแล้วใช่ไหม
กิ่ง. ค่ะ เอ้อ.. ทำไมคุณแสงไม่ลงไปต้อนรับด้วยคะ
ปล่อยให้แม่คนนั้นเผยอหน้า....
(พูดอย่างเจ็บใจ) คู่กับคุณลบ
ภาพใบหน้าแสงเยือกเย็นขณะที่หันกลับมาช้าๆ
แสง. ฉันจะลงไปดูคุณย่า
แสงเดินออกไป กิ่งมองตามงงๆ
แล้วเดินตามออกไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น