ประเด็นที่ดี
คืออย่างไร?
ประเด็นในการเขียนสารคดีมีหลากหลาย
แบ่งเป็นประเภทได้เป็น ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา วิถีชีวิต
ศิลปวัฒนธรรม คติชนวิทยา ภูมิปัญญา ศิลปสถาปัตยกรรม การท่องเที่ยว ฯลฯ
แต่สมมติเราจะเขียนประเด็นธรรมชาติวิทยาว่าด้วยผืนป่าดอยอินทนนท์
ก็ยังมีประเด็นย่อย ๆ อีกมากมาย
คุณสมบัติของ
“ประเด็น” ที่ดีคือ
๑
เป็นความสนใจใคร่รู้ของมนุษย์ (Human Interest)
๒
เป็นการสร้างสรรค์ใหม่ (Creative) ถ้าเป็นประเด็นที่เคยมีคนนำเสนอมาแล้ว
ก็ควรมีข้อมูลคืบหน้าใหม่ ๆ เพิ่มเติม ไม่ใช่ย่ำอยู่บนรอยเดิมทั้งหมด
๓
ก่อให้เกิดทัศนะคติเชิงบวก (Positive) แม้ว่าเรื่องที่นำเสนอจะเป็นเรื่องที่เฉียดฉิว
เช่น เรื่องการทรงเจ้า แต่เจตนาในการนำเสนอ ไม่ควรโน้มน้าวให้ให้เกิดความงมงาย
แต่ก็ไม่จำเป็นต้องชี้นำ หรืออบรมสั่งสอนจนเกินไป
๔
มีเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกมาเกี่ยวข้อง (Emotion) หมายถึงอารมณ์สนุกสนาน
ตื่นเต้น พิศวง ระทึกใจ เศร้าสลดใจ ตลกขบขัน ฯลฯ ไม่ใช่เสนอแต่ข้อมูลทางกายภาพแห้ง
ๆ แต่น่าจะมีข้อมูลทางความรู้สึกนึกคิด หรือจิตวิญญาณของบุคคลที่เกี่ยวข้อง
มานำเสนอด้วย อย่างที่เรียกว่า ข้อมูลทางจินตภาพ)
๕
เป็นประเด็นที่ผู้เขียนมีข้อมูล รู้จริง น่าเชื่อถือ (Convincingly)
ข้อมูลจากประสบการณ์จริงในการลงพื้นที่
หรือข้อมูลจากการค้นคว้าเอกสาร และจะดียิ่ง หากมีข้อมูลทั้งสองด้าน เพราะฉะนั้น
การเริ่มงานเขียนด้วยประเด็นที่ใกล้ตัว ประเด็นที่เราสนใจใคร่รู้เป็นการส่วนตัว
จึงเป็นการเริ่มต้นที่ดีวิธีหนึ่ง
๖
เป็นประเด็นที่มีความขัดแย้ง หักมุม เปรียบเทียบเห็นความแตกต่าง
(Conflict) เพราะบางครั้ง
การที่ผู้อ่านคาดเดาเนื้อเรื่องตอนจบถูกบ้าง ไม่ถูกบ้าง เพราะมีการหักมุมจบ
ก็จะช่วยเพิ่มอรรถรสในการอ่านหรือดูมากยิ่งขึ้น
พื้นบ้าน พื้นถิ่น ประเด็นแห่งโลกอนาคต
อย่างไรก็ตาม
หากจะพูดถึงประเภทของสารคดีที่จะได้รับความสนใจในอนาคต
เราอาจดูแนวโน้มได้จากสิ่งที่นักอนาคตศาสตร์ อย่าง จอห์น ไนซ์บิตต์ และ แพตริเซีย
อะเบอร์ดีน คาดการณ์หรือพยากรณ์ไว้ ในหนังสือ “อภิมหาแนวโน้มโลก”
(Megatrands 2000 – แปลโดย
สันติ ตั้งรพีพากร) ซึ่งถือเป็นคำพยากรณ์อนาคตโลกยุค ๒๐๐๐ ว่า…
“...ในช่วงที่วิถีการดำเนินชีวิตระดับโลกกำลังเป็นไปแบบเดียวกันมากขึ้นนั้น
ก็กลับมีสัญญาณแสดงออกมาอย่างไม่คลุมเครือเลยว่า
ความต้องการที่จะรักษาไว้ซึ่งความเป็น “ตนเอง” ทั้งทางภาษาและวัฒนธรรม
ปลอดจากการครอบงำจากต่างชาติ กำลังเป็นแนวโน้มที่มาแรง
สวนทางกับแนวโน้มแห่งความเป็นสากลร่วมกันอย่างเห็นได้ชัด…
…ยิ่งวิถีการดำเนินชีวิตของพวกเรามีความคล้ายคลึงกันเท่าไหร่
เราก็จะยิ่งเสาะลึกลงหาค่านิยมแบบเก่า ทั้งด้านศาสนา ภาษา ศิลปะ และวรรณคดี
ยิ่งแนวคิดและความเข้าใจต่อโลกภายนอกของเราใกล้เคียงกันเท่าไร
เราก็จะยิ่งได้สัมผัสคุณค่ามหาศาลของจารีตประเพณีดั้งเดิมที่ถูกขุดค้นเอามาจากภายใน…”
วิถีการดำเนินชีวิตระดับโลกคืออะไร
? มิอาจปฏิเสธได้ว่าวันนี้
ประชาคมโลกคำนึงถึงเรื่องสิทธิประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน การค้าเสรี
การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ฯลฯ
ขณะเดียวกันประชาคมโลกก็มีชีวิตคล้ายคลึงกันมากขึ้นทุกวัน เพราะเราต่างดูข่าว
ซีเอ็นเอ็น นุ่งยีนลีวาย กินอาหารฟาสต์ฟู้ดอย่างแม็กโดนัลด์
เป็นสมาชิกเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านโลกที่ไร้พรมแดน
แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้เช่นกันว่า
ยิ่งโลกทันสมัย โลกก็ยิ่งหันมาสนใจเรื่องของภูมิปัญญาพื้นบ้าน วัฒนธรรมพื้นถิ่น
เช่น การที่อาหารไทยได้รับความนิยมในระดับนานาชาติ นอกจากรสชาติอร่อยแล้ว
ส่วนหนึ่งเพราะมีส่วนประกอบเป็นพืชผักสมุนไพรที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
ในขณะที่สิงคโปร์ต้องรณรงค์ให้ประชาชนยิ้มเป็น เพราะสิงคโปร์เป็นเมืองท่าสากลมานาน
ประชากรพูดภาษาอังกฤษได้ ค้าขายคล่อง แต่บุคลิกพื้นฐานของวัฒนธรรมตะวันออกบางอย่าง
เช่นการยิ้ม กลับหายไป
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็ก
ๆ ที่สนับสนุนคำพยากรณ์ของนักอนาคตศาสตร์ ที่ว่าโลกในวันข้างหน้า
จะเป็นโลกที่ให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาพื้นบ้าน วัฒนธรรมพื้นถิ่นมากยิ่งขึ้น
คนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับโลกอนาคต
ไม่ใช่แค่ใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตได้คล่อง
แต่ยังต้องรู้จักรากเหง้าแห่งเผ่าพันธุ์ตน
ตระหนักในคุณค่าแห่งภูมิปัญญาของแผ่นดินถิ่นเกิด
ดังนั้น
เรื่องของภูมิปัญญา ขนบประเพณี และสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมพื้นบ้าน พื้นถิ่นทั้งหลาย
จึงน่าจะเป็นประเภทของสารคดีที่ได้รับการต้อนรับในโลกแห่งอนาคต
อ้างอิง knowledge.prdnorth.in.th/wp-content/uploads/.../1-เมื่อคิดจะเขียนสารคดี.doc
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น