วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2559

เริ่มต้นอย่างไร เมื่อคิดจะเขียน ?

 เริ่มต้นอย่างไร เมื่อคิดจะเขียน ?





                        เมื่อคิดจะลงมือเขียนสารคดี...
                        ๑ ถามตัวเองว่าจะเขียนสารคดีเรื่องนั้น ๆ ในประเด็นอะไร? (ประวัติศาสตร์, ภูมิศาสตร์, โบราณคดี, ธรรมชาติวิทยา, ศิลปวัฒนธรรม, วิถีชีวิต, สิ่งแวดล้อม ฯลฯ)
                        ๒ ถ้ามีหลายประเด็น อะไรคือประเด็นหลัก อะไรคือประเด็นรอง ? เพราะสารคดีที่ให้น้ำหนักทุกเรื่อง ทุกประเด็นเท่ากันหมด ไม่น่าจะเป็นสารคดีที่ดึงดูดใจ หรือให้อะไรกับผู้อ่านมากนัก นอกเสียเป็นจากการรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นแบบ ชักม้าชมเมืองหรือ ขี่ม้าชมดอกไม้
                        ๓ เรียงลำดับประเด็น หรือข้อมูลที่มีอยู่ในมือ ดูว่าเราได้ข้อมูลอะไรมาบ้าง สัมภาษณ์ใครมาบ้าง ตัวเราเองมีทัศนะความคิดเห็นต่อเรื่องนั้นอย่างไรบ้าง เอามาวางแบดูบนโต๊ะ จากนั้นจึงร้อยเรียงประเด็นเหล่านั้นใหม่ ตามกลวิธีการนำเสนอที่วางแผนไว้ นั่นคือการพล็อตเรื่อง ตามที่แนะนำไว้ในข้อ ข.
                        ๔ ค้นหาประเด็นขึ้นต้น - ลงท้าย ที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะถ้าขึ้นต้นได้ดี ย่อมมีชัยชนะในการเกาะกุมหัวใจคนอ่าน คนดู ให้ติดตามงานสารคดีของเราไปตั้งแต่ต้นจนจบได้ ยิ่งถ้าจบเรื่องได้ดี ได้กินใจ แง่คิดมุมมองที่เรานำเสนอไว้ในสารคดี ก็จะประทับลงในความทรงจำของผู้อ่านมากยิ่งขึ้น หลีกเลี่ยงการขึ้นต้นเรื่องด้วยบทนำประเภท ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมหรือ สภาพสังคมไทยปัจจุบันสับสนวุ่นวายฯลฯ ซึ่งเป็นประโยคพื้น ๆ ที่ถูกใช้บ่อยจนไม่ค่อยมีความน่าสนใจ เสนอให้ขึ้นด้วยด้วยประเด็นที่เป็นรูปธรรม เช่น คน สัตว์ สิ่งของ ฯลฯ
                        ๕ วางเป้าหมายว่าจะเขียนสารคดีด้วยความยาวแค่ไหน ? (สั้น ปานกลาง ยาวกี่หน้า ? ) กับวางเป้าหมายให้ชัดว่าจะเขียนให้ใครอ่าน? (เด็ก ผู้ใหญ่ บุคคลทั่วไป เกษตรกร ฯลฯ)
                        ๖ ไม่คาดหวังจะสร้างผลงานชิ้นเยี่ยมในความฝัน เพราะจะทำให้เราเกร็ง เขียนไม่ออก กลัวไม่ดี ขอให้คิดว่าทำให้ดีที่สุด ณ วันนั้น ถ้ายังไม่ดีก็ค่อยๆ แก้ไขปรับปรุงไป เพราะงานเขียนเป็นเรื่องของการฝึกฝน น้อยคนนักที่จะเขียนงานชิ้นเดียวแล้วดีเลย แต่ ยิ่งเขียน จะยิ่งดีมากกว่า
                        ๗ สร้างกำลังใจด้วยการ ร่างโครงเรื่องให้เสร็จก่อน เช่น ตั้งใจเขียนเรื่องมลพิษในแม่น้ำเจ้าพระยา ความยาว ๒-๓ หน้า ก็ร่างโครงเรื่องให้เสร็จในช่วงเวลาเดียว เช่น ๒-๓ ชั่วโมง อย่าเขียนไปแก้ไปทีละประโยคหรือทีละบรรทัด จะทำให้งานเดินหน้าไปช้าจนพาลหมดกำลังใจ คำบางคำ หรือประโยคบางประโยค ตอนลงมือเขียนยังไม่พอใจ ถ้ายังหาคำที่ดีกว่านั้นไม่ได้ ก็ให้ทิ้งไว้ก่อน คิดเสียว่านี่เป็นแค่ ร่างจะทำให้ไม่เครียด
จากนั้นเมื่อร่างโครงเรื่องเสร็จแล้ว แนะนำให้เปลี่ยนอิริยาบถเช่น นอนพัก ดูทีวี. เล่นกีฬา คุยกับแฟน ฯลฯ ให้สมองปลอดโปร่งแล้วจึงเอาโครงเรื่องที่ร่างไว้ มาแก้ไขปรับปรุง เมื่อสมองไม่เครียด ย่อมคิดสร้างสรรค์คำหรือประโยคใหม่ที่สละสลวยกว่าเก่าได้ แต่ถ้าย้ำคิดย้ำทำ วนเวียนแก้ไขคำให้ดีที่สุด สวยหรูที่สุด ก็อาจจะเขียนได้แค่ ๓-๔ บรรทัด แต่ใช้เวลาเป็นวัน ๆ แล้วในที่สุดก็จะเซ็งตัวเองไปเลย
                        ๘ เขียนแล้วอย่าเก็บไว้อ่านคนเดียว อย่างน้อยให้เพื่อน ๆ หรือคนรอบข้างได้ช่วยตรวจสอบว่า เราเขียนหนังสือให้คนอื่นอ่านเข้าใจได้หรือไม่ ? บางคนเขียนแล้วเข้าใจอยู่คนเดียว  วัฒนธรรมการวิจารณ์จึงควรมีอยู่ในจิตสำนึก คือวิจารณ์และรับฟังการวิจารณ์ได้
                        การส่งไปให้บรรณาธิการนิตยสารฉบับต่าง ๆ ได้อ่านก็เป็นวิธีที่ดี โดยเมื่อเริ่มส่งไปอย่าคาดหวังว่าจะได้รับพิจารณาตีพิมพ์ทันที แต่ให้คาดหวังคำวิจารณ์ คาดหวังว่าจะได้พิสูจน์ฝีมือว่าเราอยู่ในระดับใด พอจะเขียนหนังสือให้คนอื่นอ่านได้ไหม เมื่อได้รับคำวิจารณ์ก็จะได้นำมาแก้ไขปรับปรุง อย่างไรก็ตาม มีนักเขียนหน้าใหม่หลายคนที่ส่งผลงานชิ้นแรก ๆ ไปให้นิตยสาร ก็ได้ตีพิมพ์เลยและสร้างชื่อเสียงขึ้นอย่างรวดเร็ว
                        ทั้งนี้ จะส่งต้นฉบับให้นิตยสารฉบับไหนพิจารณา ควรศึกษาบุคลิกของนิตยสารฉบับนั้น เพราะถ้าเป็นนิตยสารแนววาไรตี้ อ่านสบาย แต่เราส่งสารคดีเชิงประวัติศาสตร์ หนา ๒๐ หน้าไป ก็ยากจะได้รับการพิจารณา จึงต้องตระหนักว่านิตยสารบนแผงมีบุคลิกอันหลากหลาย
                        ๙ การอ่าน การดู การฟัง การรับสื่ออยู่เสมอ เป็นแรงบันดาลใจในการเขียนที่ดี

                        ๑๐ ลงมือเขียนวันนี้!

ขอขอบคุณ
คุณ ธีรภาพ โลหิตกุล  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น