วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2559

กลวิธีและภาษาที่ใช้ในการนำเสนอสารคดี

การใช้ภาษาในงานสารคดี



๑ ใช้ภาษาไพเราะ สละสลวย แต่ไม่วิลิสมาหราเกินไป หรืออาจกล่าวได้ว่า ใช้ภาษาที่เรียบง่าย แต่ทรงพลัง
๒ เติมเสน่ห์ในงานเขียนด้วยการใช้อุปมาอุปไมยพองาม
๓ ใช้คำประเภท กับ แก่ แต่ ต่อ ที่ ซึ่ง อัน ฯลฯ อย่างเหมาะสม
๔ ระมัดระวังคำฟุ่มเฟือยประเภท วัดโพธิ์ถูกสร้างขึ้นใน พ.ศ….,  ทีมชาติไทยแพ้ให้กับทีมจีน, รัฐบาลสหรัฐฯทำการเจรจาสันติภาพกับอิรัก ฯลฯ
๕ ระมัดระวังคำซ้ำ เช่น “…ฉันเสียใจที่ทำให้แม่ต้องร้องไห้ การทำให้แม่ต้องร้องไห้ถือเป็นบาปมหันต์…” หากเลือกคำไม่ซ้ำกันได้ เช่น “…การทำให้บุพการีถึงกับน้ำตาตกถือเป็นบาปมหันต์…” น่าจะดีกว่า

 กลวิธีการเดินเรื่องในงานสารคดี



๑ ใช้ตัวผู้เขียนเองเป็นตัวเดินเรื่อง (พรีเซ็นเตอร์) เช่น สารคดีเชิงบันทึกการเดินทาง หรือสารคดีที่นำเสนอเรื่องราวผ่านอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียน
๒ ใช้บุคคลในพื้นที่เป็นตัวเดินเรื่อง เช่น สารคดีสะท้อนความยิ่งใหญ่ของผืนป่าดงพญาไฟ (เขาใหญ่) ผ่านประสบการณ์อดีตพรานป่าผู้ผันชีวิตมาเป็นนักอนุรักษ์
๓ ใช้บุคคลในประวัติศาสตร์เป็นตัวเดินเรื่อง เช่น สารคดีสะท้อนประวัติศาสตร์หมู่เกาะตะรุเตา ผ่านชีวิตที่พลิกผันของอาจารย์สอ เสถบุตร ซึ่งเคยเป็นนักโทษการเมืองถูกจองจำที่ทัณฑสถานตะรุเตา และเขียนดิกชันนารีเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่
๔ เสนอสารคดีในรูปแบบจดหมาย ใช้ตัวผู้เขียนจดหมายกับผู้รับ เป็นตัวเดินเรื่อง
๕ ให้เนื้อหาสารคดีเดินเรื่องด้วยตัวของมันเอง โดยไม่ต้องมีพรีเซ็นเตอร์ เช่น เขียนถึงอุทยานแห่งเขาใหญ่ ก็ใช้เขาใหญ่เป็นตัวเดินเรื่อง เขียนสารคดีเกี่ยวกับควาย ก็ใช้ควายเป็นตัวเดินเรื่อง
๖ สร้างตัวละคร (Actor) เป็นตัวเดินเรื่อง หมายถึงเรานำเสนอเรื่องราวอันเป็นข้อเท็จจริง (Fact) แต่ปั้นแต่งตัวละครขึ้นเป็นตัวเดินเรื่อง หรือเอาตัวละครใส่เข้าไปในเหตุการณ์หรือสถานที่ที่เรากล่าวถึง วงการโทรทัศน์เรียก สารคดีกึ่งละคร” (Docu-Drama) เช่น เรื่อง ปมไหมผู้เขียนบทสร้างตัวละครชื่อ คทาเป็นตัวเดินเรื่อง โดยกำหนดให้ คทาเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ติดตามข่าวการหายสาบสูญของจิม ทอมป์สัน ราชาไหมไทยกรณีนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงใน ปี ๒๕๑๐ แต่ คทาเป็นเพียงตัวละคร

หากเป็นบทความสารคดี บางทีเรียกสารคดีกึ่งละครว่า สาระนิยายคือใช้เหตุการณ์จริง สถานที่จริง แต่ตัวเดินเรื่องเกิดขึ้นจากจินตนาการ ถือเป็นการผสมผสานระหว่างข้อเท็จจริง (Fact) กับ มายา (Drama) ซึ่งผู้เขียนต้องทำอย่างกลมกลืนที่สุด มิฉะนั้น สารคดีจะไม่สมจริง

อ้างอิง บทความเมื่อคิดจะเขียนสารคดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น